วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฮิปปี้ บุปผาชน กับเทศกาล Wood stock


จอห์น เกรียร์สัน หัวหอกคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวในวงการภาพยนตร์สารคดีประเทศอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 30 ให้คำนิยามหนังในทางนี้ว่า เป็นงานสร้างสรรค์ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นจริง และนั่นก็เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างหนังสารคดีที่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาให้ผู้ชมได้รับรู้ แม้ว่าในทุกวันนี้ด้วยเหตุผลทางการตลาดเป็นสำคัญทำให้เราได้ชมภาพยนตร์ในแนวนี้น้อยลง แต่ถ้ามองย้อนกลับไปแล้ว โลกภาพยนตร์ก็มีสารคดีชิ้นดีมากมายให้เราได้พูดถึงอยู่ไม่น้อย
            ในช่วงทศวรรษที่ 60 สหรัฐอเมริกาถูกเรียกว่าเป็นยุคของ บุปผาชน เมื่อชนชั้นแรงงานในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สามารถพัฒนาตัวเองจนขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางของประเทศได้ จากความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้นนี้เองทำให้วัยรุ่นเกิดความฟุ่มเฟื่อยมากขึ้น กลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยต้องเผชิญหน้ากับความยากไร้ พอมากขึ้นก็เกิดกระแสต่อต้านลัทธิวัตถุนิยม คนหนุ่มคนสาวในสมัยนั้นต่างปลีกตัวออกจากสังคม เรียกตัวเองว่า ฮิปปี้ หันหน้าเข้าหาดนตรีและยาเสพติด แสวงหาความรัก อิสรเสรี และความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าหาไม่ได้แล้วในสังคมกระแสหลัก

 Woodstock เป็นชื่อของหนังสารคดีในปี 1970 ที่ถ่ายทอดมหกรรมดนตรีที่เป็นการรวมตัวกันของฮิปปี้กว่า 5 แสนคน พวกเขามาจับกลุ่มกันเพื่อประกาศจุดยืนในการต่อต้านสงครามเวียดนามที่คร่าชีวิตคนหนุ่มสาวไปมากมาย และเป็นการทำให้โลกทั้งใบเห็นถึงพลังของพวกตน งานจัดขึ้นที่ฟาร์มขนาด 600 เอเคอร์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองวู้ดสตอก กรุงนิวยอร์คไปทางตะวันตกเฉียงใต้ไปประมาณ 63 กิโลเมตร ในระหว่างวันที่ 15-18 สิงหาคม 1969 ว่ากันว่านี่คือ 3 วันของของสันติภาพและดนตรี
            บทสรุปของเทศกาลดนตรีในคราวนั้น มีผู้จบชีวิตลงทั้งสิ้น 3 คน หนึ่งจากการเสพยาเกินขนาด หนึ่งจากอุบัติเหตุถุงนอน และอีกหนึ่งจากนั่งร้านพัง ยังไม่นับรวมการแท้งลูกอีกสามราย ขณะเดียวกันที่นี่ก็เป็นสถานที่ให้กำเนิดชีวิตใหม่ของเด็ก 2 คนด้วยเช่นกัน งานในครั้งนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์วงการดนตรี เช่นกันกับที่นิตยสาร Rolling Stone ที่จัดให้ 3 วันในวู๊ดสตอก ติดหนึ่งใน 50 เหตุการณ์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของดนตรีร็อคแอนด์โรลไปตลอดกาล

พอออกฉายในปี 1970 ผลงานของ  ไมเคิล วัดไลช์ ที่มีลูกมืออย่างมาร์ติน สกอร์เซซี่, จอร์จ ลูคัส และ เทลม่า ชูนเมคเกอร์ สามารถคว้ารางวัลออสการ์ในฐานะภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ ทั้งยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องหมายของวัฒนธรรมโดย United States Library of Congress ในปี 1994 ภาพยนตร์ในฉบับ Director’s Cut ก็ออกจำหน่าย พร้อมทั้งมีการเพิ่มภาพฟุตเทจที่ยังไม่เคยเห็นที่ไหน รวมไปถึงภาพการแสดงของวงเจฟเฟอร์สัน แอร์เพลนและเจนิส จอพลิน เข้ามา 

ในวันที่ 15-17 สิงหาคม ปี 1969 โลกแห่งดนตรีได้ถูกบันทึกไว้เป็น “ตำนาน” อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์  กับปรากฏการณ์ทางดนตรี ที่คลื่นมนุษย์นับแสนคน มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างอิสระเสรี ภายใต้บรรยากาศ “สันติภาพ และ เสียงดนตรี” ในเทศกาลดนตรี “อภิมหายักษ์” ที่ชื่อว่า วู๊ดสต็อค (Woodstock)

            เทศกาลดนตรีวู๊ดสต๊อค จัดขึ้นในพื้นที่ขนาด 600 เอเคอร์ ที่เรียกกันว่า “ไวท์เลค” อยู่ในเขตเบเธล (Bethel) ห่างออกไปทางเหนือของนิวยอร์คราว 100 ไมล์ ภายใน ยาสเกอร์ ฟาร์ม ซึ่งเป็นไร่อัลฟัลฟาของ แม็กซ์ ยาสเกอร์ (Max Yasger) และผู้จัดงานต้องจ่ายค่าเช่าที่สูงถึง 75,000 ดอลล่าร์ เพื่อเช่าที่สำหรับจัดคอนเสิร์ตด้วยระยะเวลา 3 วัน 3 คืน

             เทศกาลดนตรี Woodstock’64 บันทึกเรื่องราวต่างๆไว้ในประวัติศาสตร์ของการแสดงดนตรีเอาไว้มากมาย ตั้งแต่จำนวน “คลื่นมนุษย์” ที่เข้ามาชมงานอย่างมากมายมหาศาลกว่า 500,000 คน มีผู้ป่วยมารับการรักษาที่ห้องพยาบาลสนามถึง 5,162 คน มีเด็กคลอดใหม่ในงานหลายคน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย รายแรกเสพย์ยาเกินขนาด...รายที่สองพลัดตกลงมาจากหอไฟส่องหน้าเวที และรายสุดท้ายถูกรถขนของเข้างานชนตายก่อนหน้างานเริ่ม 1 วัน มีผู้ถูกจับกุมไปสงบสติอารมณ์ที่เมืองเบเธล 177 คน  มีผู้นำบัตรมาขึ้นเงินคืน 18,000 ใบ เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปถึงงานได้ เพราะรถติดอยู่บนถนนที่จะเข้าสู่งาน และเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ได้แค่จุดคุ้มทุนก็ถือว่าบุญแล้ว!

            นั่นมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1964 หรือปีแรกที่มีการจัดงานเมหกรรมดนตรีวู๊ดสต๊อคขึ้นมา...หลังจากนั้นมีการจัดงานมหกรรมดนตรีวู๊ดสต๊อคสืบต่อกันมาอีกหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าเสน่ห์และมนต์ขลังมีไม่มากเท่าแบบฉบับเดิมๆของปี ’64 โดยเฉพาะกับการจัดในปีหลังๆ ที่ยุคสมัยของการชมคอนเสิร์ตเปลี่ยนไป ผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่จะเป็น “ขาร็อค” ที่อารมณ์ค่อนข้างรุนแรง และมักจะมีการกระทบกระทั่งกันแรงๆ จนถึงขั้นใช้เครื่องทุ่นแรงเข้าตะลุมบอนกันได้เลือดอยู่เสมอ ซึ่งผู้จัดเองก็ไม่สามารถควบคุมได้ จนเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองต้องสั่งยกเลิกการแสดงไปเลยก็มี ซึ่งส่งผลให้การสืบต่อตำนานมหกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของวู๊ดสต๊อคค่อยๆเลือนหายไปในที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สังคมฮิปปี้ คือ อะไร

แม้จะเกิดทันยุคฮิปปี้ แต่ก็ยังเด็กอยู่มากจนจำอะไรเกี่ยวกับฮิปปี้ไม่ได้เลย  เรื่องราวของฮิปปี้ดังต่อไปนี้จึงได้มาจากหนังสือ “สหรัฐอเมริกาในโลกปัจจุบัน (ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๐)”  โดย ศาสตราจารย์สมร  นิติทัณฑ์ประภาศ
     ในราว ค.ศ. ๑๙๖๗ คนหนุ่มสาวอเมริกันที่เบื่อระอาสังคมชนชั้นกลางและระดับสูงกว่านั้น  เพราะไม่อาจปฏิรูปสังคมได้ดังใจนึก  และไม่อาจจะเข้าใจถึงค่านิยมของพ่อแม่ที่เน้นความสำคัญของเงินตรา  สถานภาพทางสังคมและความสำคัญของการทำงานหนักในชีวิต เพราะตนเติบโตมาโดยไม่ต้องผ่านการต่อสู้ชีวิตมาอย่างหนักเช่นพ่อแม่ คนเหล่านั้นต่างพากันปลีกตัวออกนอกสังคม  หันไปเจริญรอยตามพวกบีตนิกแห่งทศวรรษที่ ๕๐ แต่ดำรงชีวิตอยู่อย่างน่าสมเพชกว่า หนุ่มสาวเหล่านี้ได้ชื่อว่าพวก  “ฮิปปี้”
     ฮิปปี้โดยทั่วไปด้อยการศึกษา แต่งกายสกปรกซอมซ่อรุงรังไว้หนวดเครา ผมยาว ห้อยลูกประคำ สวมรองเท้าแตะ ไม่สนใจจะผูกเนกไทหรือสวมถุงเท้า นิยมสูบกัญชาและยาเสพย์ติดอื่น ๆ ชิงชังการสะสมความมั่งคั่ง  บางคนทำงานหนักที่ไม่ต้องใช้สมองเท่าใดนัก  และรายได้ต่ำมาก บางคนก็ขอเงินจากทางบ้าน  และมีไม่น้อยทำตนเป็นขอทาน
     พวกฮิปปี้ส่วนใหญ่พากันไปมั่วสุมกันที่ตำบลไฮต์แอชเบอรี  (Haight-Ashbury) ในนครซานฟรานซิสโก และที่อีสต์วิลเลจ(East Village) ในนครนิวยอร์ก  พวกฮิปปี้เรียกตนเองว่า "บุปผาดรุณ”  (flower children) หรือ “บุปผาชน” (flower people) พอใจที่จะยื่นดอกไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอัยการที่นำตนขึ้นฟ้องร้องต่อศาลมากกว่าจะใช้วิธีประท้วงอย่างรุนแรงไม่ สนใจต่อขนบธรรมเนียมประเพณีใด ๆ ปล่อยตนตามสบายอยู่อย่างสงบ  บางคนก็หันไปสนใจศาสนาที่แตกต่างไปจากที่ตนเองและครอบครัวเคยนับถือ เช่น ศาสนาและนิกายในตะวันออก  อาทิ  ศาสนาฮินดู ลัทธิขงจื๊อ  นิกายเซน  ลัทธิเต๋าทั้งนี้เพื่อไว้ปลอบประโลมใจและเป็นประสบการณ์ในชีวิตไปด้วยบ้างก็ หมกมุ่นอยู่กับไสยศาสตร์และโหราศาสตร์  บ้างก็จับกลุ่มกันอยู่แบบคอมมูน โดยกินอยู่ใช้สอยร่วมกัน  แบ่งความรับผิดชอบ  ทรัพย์สมบัติและความรักให้ทั่วถึงกัน  ภายในคอมมูนมีการช่วยกันทำสวนครัว  ออกไปทำงานหาเงินนอกบ้านมาใช้ร่วมกัน แต่เมื่อเศรษฐกิจฝืดเคืองจนคอมมูนต้องสลายตัวไป  คนพวกนี้ก็กระจัดกระจายไปทั่ว  บ้างก็กลับไปหาครอบครัว  บ้างก็หางานทำ  บ้างก็กลับไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย บ้างก็ตุหรัดตุเหร่ไปในต่างแดน
     พวกฮิปปี้ไม่สนใจการเมือง  ซึ่งตนถือว่าเป็นเรื่องไม่จริงใจต่อกันและกัน  ไม่ชอบมีเงินตราไว้เกินกว่าเพื่อยังชีพเท่าที่จำเป็นไม่ก้าวร้าวในรูปใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าด้วยกำลังหรือวาจา เรียกร้องแต่ความรัก ความซื่อสัตย์  เปิดเผย  และความเป็นอิสระ  ซึ่งตนเห็นว่าหาไม่ได้จากสังคม  คนพวกนี้ต้องการจะมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ  เหมือนอาดัมกับอีฟ มนุษย์คู่แรกของโลก
     ยาเสพย์ติด  ความรักเสรี  ดนตรีร็อก  เป็นสิ่งขาดไม่ได้ของพวกฮิปปี้ ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ สถาบันสุขภาพจิตสหรัฐฯ รายงานว่า  มีคนอเมริกันกว่าแสนคนที่ติดยาเสพย์ติตอย่างร้ายแรงและ ๘ ถึง ๑๒ ล้านคน  ได้เคยลองสูบกัญชามาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง  ภาพของฮิปปี้หนุ่มสาววัยฉกรรจ์ที่ติดยาเสพย์ติดอย่างร้ายแรงจนซูบผอมและมี อาการเศร้าซึมเพราะพิษยา ก่อให้เกิดความเศร้าสลดใจแก่ประชาชนที่ได้พบเห็น  หนุ่มสาวเหล่านั้นไม่น้อยจบชีวิตลงด้วยความตาย หรือไม่ก็คุกตะราง
     เมื่อใกล้จะสิ้นทศวรรษที่ ๖๐ สภาวะของพวกบุปผาชนยิ่งเลวร้ายลงกลายเป็น “คนข้างถนน” (street people)  ที่สกปรกโสมม  ภาคภูมิใจกับการลักเล็กขโมยน้อยเพื่อยังชีพร่อนเร่พเนจรทั่วไป บ้างก็จับกลุ่มมั่วโลกีย์กันเป็นกลุ่ม ๆ และก่อความรุนแรงที่ท้าทายกฎหมาย อาทิ พวกแก๊งมอเตอร์ไซค์ที่ขับฉวัดเฉวียนเสี่ยงความตาย และส่งเสียงอึกทึกครึกโครม เช่น  แก๊งเฮลส์  แองเจล (Hell's  Angel)  ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย  และพวกลักลอบค้ายาเสพย์ติด ใน ค.ศ. ๑๙๖๙  ชารอน เทต  (Sharon Tate)  ดาราภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่และคนอื่น  ๆ  อีกหลายคนถูกสังหารอย่างทารุณ  โดยหญิง  ๓  คน  ซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวฮิปปี้ของชาร์ลส์  แมนสัน  (Charles  Manson)  ผู้บงการโดยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน  คดีฆาตกรรมที่โหดร้ายนี้อื้อฉาวไปทั่วโลก  ทำให้พวกฮิปปี้ได้รับคำประณามว่า “ต่ำทราม ยังไม่โต นึกถึงแต่ตัวเองและไร้ความรับผิดชอบอย่างเห็นแก่ตัว” เมื่อย่างเข้ากลางทศวรรษที่ ๗๐ สถานการณ์ภายในประเทศค่อยคลายความตึงเครียดลงเนื่องจากสงครามเวียดนามยุติลง แล้ว  การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนก็อ่อนกำลังลง  ชุมชนของพวกฮิปปี้ก็พลอยอันตรธานไปด้วย  ต่างแยกย้ายกระจัดกระจายกันไป
ในประเทศไทยเรียกฮิปปี้ ว่า พวกบุปผาชน โดยอธิบายไว้ว่า เป็นพวกที่รัก อิสระเสรีภาพ ทั้งการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ทั้งการแต่งกาย ไม่ภูมิฐาน ฟุ้งเฟ้อหรือยึดติดกับสิ่งของราคาแพง


ขอบคุณ ข้อมูลจาก http://guru.sanook.com/answer/question/%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%89_-_%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99/

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความบาล๊านซ์ ระหว่างเด็กแนวกับผู้ใหญ่แนว



ไม่รู้ว่าใครอุตริ บัญญัติศัพท์คำว่า เด็กแนว ขึ้นมาในสังคมไทย ทำให้กระแสเด็กวัยรุ่นที่ทำตัวแปลกแยก ทรงเผ้าทรงผมประหลาดๆหรือทำตัว ขบถ ต่อ ขนบ เดิม เช่น จากเคยฟังเพลงตลาดจากค่ายใหญ่ๆก็หันไปฟังเพลงค่ายอินดี้ เสื้อผ้าก็ต้องมือสองมือสามไว้ก่อน เดินเกลื่อนอยู่ในบ้านเราเต็มไปหมด เดือดร้อนไปถึงระบบทุนนิยม(อย่าคิดนะครับว่าเด็กๆพวกนี้ กระจอกงอกง่อย เพราะเด็กเหล่านี้นี่แหละที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่สำหรับการจับจ่าย)ที่ต้อง ปรับให้เข้ากับ เทรนด์ ให้ทันรสนิยมของวัยรุ่น แถมพ่วงด้วยการมีธุรกิจบางประเภทเข้ามาตักตวงหากินกับเด็กๆเหล่านี้(อย่าง แยบยล) เพราะวัยนี้เป็นวัยที่อ่อนไหวต่อสิ่งรอบตัว อะไรมากระตุ้นหน่อย(แต่ต้องแนวๆ)ก็เห็นดีงามไปด้วยหมดโดยที่ขาดวิจารณญาณ ทำให้ผู้ปกครองได้ปวดเศียรเวียนเกล้ากันตามควร

ความคิดความอ่านก็ออกจะก้าวหน้าและสุดโต่งไปนิดจนทำให้ ขัดตาข้องใจของบรรดาผู้ใหญ่(หัวโบราณ)บางคน

เลยอด ที่จะออกมาบ่นไม่ได้ ว่าไร้สาระบ้างล่ะ ไม่สนใจบ้านเมืองบ้างล่ะ หรือขาดจิตสำนึกบ้างล่ะ แถมด้วยการอวดภูมิด้วยว่าสมัย ข้าเป็นเด็ก(แนวๆแบบยุคนั้น)อย่างพวกเอ็ง ข้าทำกิจกรรมเพื่อสังคมหลายอย่างมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง สนใจชาวบ้าน แต่หารู้ไม่ว่า นั่นคือกระแสเด็กแนวเหมือนกัน กรุณา อย่างงครับ ...

ในสมัยนั้นมีความสนใจเรื่องพวกนี้อยู่จริง เคลื่อนไหวโดยรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่
“อะไร” ในที่นี้หมายถึง รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นมีจุดประสงค์อย่างไร เช่น คนอย่าง อาจารย์ เสกสรรค์ประเสริฐกุล อาจารย์ ธีรยุทธ บุญมี และอีกหลายๆท่าน

ทำให้พลังนักศึกษามีอำนาจต่อรองสูง แต่ก็มีมากเหมือนกันที่เป็นประเภทที่ว่า พวกมากลากไป คือ เพื่อนเขาชวนไป “เฮ” ก็ไป จนกลายเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มที่ไม่หวังดีต่อชาติ จนเกิดกรณี 6 ตุลา 19 ซึ่งเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของไทย ที่ควรบอกลูกหลานให้เข้าใจมากกว่านี้ ไม่ใช่ทำเป็นลืมๆไป---จะได้จดและจำเพื่อไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก (รายละเอียดไปศึกษากันเองนะครับ—ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง)
แต่...พฤษภาคม ปี35 ก็.....ข้ามไปดีกว่า


อีกตัวอย่างคือ ในอเมริกา ยุคฮิปปี้ ครองเมืองหรือยุค
“บุ ฟผาชน” วัยรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมากแสดงพลังออกมาด้วยการ “ขบถ” ไม่สนใจต่อระบบอุตสาหกรรม ทุนนิยม เริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาลที่คลั่งสงคราม มีการรวมตัวกันเพื่อเดินประท้วงต่อต้านสงคราม สร้างสโลแกน Make Love Not War ! หันมาสนใจปรัชญาตะวันออก โดยเฉพาะพุทธศาสนา
มีดนตรีแนวๆอย่าง เดอะ บีทเทิ่ล บ๊อบ ดีแลน มีคอนเสิร์ต
เก๋ๆ อย่าง วู้ดสต็อก (ผมเอามาเทียบกับงานพวก งานแฟท จะมากไปไหม) ผมเผ้ารุงรัง มั่วสุมตามร้านหนังสือเก๋ๆ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แต่ไม่นานสังคมฮิปปี้ก็เริ่มฟอนเฟะเมื่อกระแสนี้เริ่มลุกลามจนควบคุมไม่ได้ เพราะมีอิสรเสรีภาพมากเกินไปและขาดการไตร่ตรอง มีการใช้ Lsd. กัญชา และยาเสพติดอื่นๆ จึงไม่สามารถอยู่ในสังคมแห่งความจริง สังคมที่ว่าด้วยเรื่องปากท้อง เพราะแท้จริงฮิปปี้ก็ต้องกินข้าวหรืออย่างน้อยก็แฮมเบอร์เกอร์ อ้อ...ลืมบอกไปฮิปปี้สมัยนั้นมีไม่น้อยเลยที่ขอเงินจากที่บ้าน โดยที่บ้านเป็นคนในธุรกิจที่พวกตนกำลังต่อต้าน พอจะนึกภาพออกใช่ไหมครับ?
นิทานเรื่อง เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง จึงมีให้เห็นอยู่อย่างดาษดื่น
นั่นก็แปลว่ากระแสเด็กแนวมีมานานนมแล้ว เพียงแต่ต่างกันตรงคำบัญญัติ


มา ถึงตรงนี้ผมกำลังจะบอกว่า เด็กไร้สาระในสายตาของบรรดาท่านผู้ใหญ่นั้นแท้จริง ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ท่านคิด แต่เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆทำความเข้าใจ ให้"อิสระภาพ"โดยที่ให้"อาวุธ" ติดตัวพวกเขาไปด้วย เพื่อเอาไว้เป็นเครื่องป้องกันภัยที่จะเข้ามาครอบงำ และ นำพาไปในทางที่ไม่ดี
เพื่อที่พวกเขาจะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แนวๆ ที่รู้จักการแก้ปัญหา ทั้งในเรื่องของตนเองและบ้านเมืองต่อไป

อาจ จะยากสักนิดสำหรับการเปิดใจ แต่ผมว่าไม่น่าจะยากเท่ากับการจับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ให้อยู่ในบ้านหลังสี่ทุ่มหรอกครับ--- อย่างนั้นไม่แนวเลย!